แบบสำรวจเพื่อการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ปี พ.ศ. 2568


หรือ คลิกลิงก์ : แบบสำรวจเพื่อการตรวจสอบ

แบบสำรวจนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจต่อ “ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง เจตจำนงในการเคารพสิทธิมนุษยชน และเป้าหมายในการยกระดับสิทธิมนุษยชนของจังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งประกาศดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
จังหวัดเชียงใหม่ ขอประกาศเจตจำนงในการเคารพสิทธิมนุษยชน และเป้าหมายในการยกระดับสิทธิมนุษยชนของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของจังหวัดเชียงใหม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จังหวัดเชียงใหม่ขอประกาศเจตจำนงในการเคารพสิทธิมนุษยชน และเป้าหมาย ในการยกระดับสิทธิมนุษยชนของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการคุ้มครอง และดูแลจากรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และสร้างความตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น  ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศตามหลักสากลอย่างยั่งยืน จึงให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ยึดถือปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้ความเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลเนื่องจากความแตกต่างทางร่างกาย จิตใจ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เพศ อายุ สีผิว หรือสถานะทางสังคม
2. สนับสนุนการขับเคลื่อนงานให้สอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) รวมถึงสร้างความตระหนักในการเคารพสิทธิมนุษยชนแก่บุคลากรในสังกัด และประชาชนทั่วไป เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ
3. ยึดมั่นในกฎหมาย หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน และพัฒนาการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
4. จัดให้มีกลไก เครื่องมือ หรือช่องทางอำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการทุกกลุ่ม ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ เพื่อให้ประชาชนรับรู้สิทธิและสามารถเข้าถึงการบริการของหน่วยงานได้โดยสะดวกทุกช่องทาง รวมถึงจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้คนพิการสามารถใช้สิทธิได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น
5. จัดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบุคคลหรือหน่วยงาน หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรอย่างเหมาะสม และมีกลไกการตรวจตรา หรือเครื่องมือในการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนขององค์กร
6. ส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างเท่าเทียมกัน
7. ส่งเสริมให้กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม ด้วยมาตรการ หรือกลไกในการบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2580)
8. สนับสนุนการขับเคลื่อนการคุ้มครองช่วยเหลือและเยียวยาทางกฎหมายให้แก่ผู้เสียหาย พยาน และกลุ่มบุคคลที่อาจตกเป็นผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ตามกลไกสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน
9.ส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรฐานสากล